ชาผูเอ่อร์สุกในผลส้ม (柑普茶)
อัพเดทล่าสุด: 6 เม.ย. 2025
31 ผู้เข้าชม
ชาผูเอ่อร์ คืออะไร
- ในสมัยโบราณ ชาวจีนเรียกชาจากยูนนานว่า ชาอัดก้อนกลม ส่งขายไปตามเส้นทางค้าชาโบราณ ฉาหมากู่เต้า เป็นสินค้าสำคัญมากไม่แพ้เกลือ
- เพิ่งจะมาเรียกว่า ชาผูเอ่อร์ ก็ตอนจักรพรรดิหย่งเจิ้ง ราชวงศ์ชิงส่งตัวแทนมาตั้งป้อมปกครองที่เมืองผูเอ่อร์ แล้วส่งส่วยไปเข้าวัง ซึ่งมีชาจากที่นี่ส่งไปด้วย คนในวังจึงเรียกว่า ชานี้ว่า ชาผูเอ่อร์
- ชาผูเอ่อร์เป็นประเภทชาดำ (เฮยฉา 黑茶 ) ซึ่งเป็นชาที่สามารถเกิดทั้ง oxidation และ fermentation อย่างช้า ๆ เกิดเป็นการพัฒนารสชาติที่ซับซ้อน ยิ่งเก่ายิ่งมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ และรสชาติที่กลมกล่อม
- ชานี้จึงมีคุณค่ามากขึ้นตามกาลเวลา และได้มาด้วยการรอเท่านั้ัน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ผูเอ่อร์ดิบ (เชิงฉา 生茶) กับ ผูเอ่อร์สุก (โชวฉา 熟茶)
ต้นกำเนิดผูเอ่อร์สุก
- เรื่องมีอยู่ว่า มีนักวิจัยชาท่านหนึ่งนามว่า อู๋ฉีอิง (吴启英) ได้เข้ามาทำงานในโรงงานผลิตชาของรัฐบาลในยูนนาน และได้เห็นความยากลำบากของชาวบ้านยูนนานทุก ๆ วัน ที่แม้จะผลิตชาได้ดี แต่ก็ยากจน
- วันหนึ่งเธอจึงเดินทางไปสำรวจปลายทางที่ขายชา คือ เกาะฮ่องกงศูนย์กลางขายชาและส่งออกให้ต่างประเทศ
- เธอพบว่า พ่อค้าชาฮ่องกงนั้นมีโกดังเก็บชาที่ใหญ่มากและกว่าครึ่งเต็มไปด้วยชาผูเอ่อร์จากยูนนาน ชาที่ขายดีหมดไวดันเป็นชาเก่าไม่ใช่ชาใหม่
- ดังนั้นต่อให้ชาวยูนนานจะผลิตชาได้เยอะแค่ไหน ชาที่ผลิตใหม่ก็ต้องรอให้เก่าไม่ต่ำกว่า 5 ปี กว่าจะพร้อมดื่มและขายได้
- นี่คือข้อจำกัดของชาผูเอ่อร์ที่เป็นเหมือนเพดานให้ชาวยูนนานที่แม้จะมีกำลังผลิตชาที่สูงแล้ว แต่ก็ไม่สามารถสร้างตัวได้ เพราะชาขายออกได้ช้ามาก
- เมื่อรู้ต้นตอปัญหาแล้ว เธอจึงครุ่นคิดและทดลองอย่างจริงจังเพื่อทลายข้อจำกัดและทำให้ชาผูเอ่อร์ขายได้ทันที ไม่ต้องรอเวลาอีกต่อไป
- ในปี 1974 เธอได้ค้นพบวิธีหมักชา ที่ทำให้ชาผูเอ่อร์มีรสชาติพร้อมดื่มได้ใน 45-90 วัน จากปกติที่ต้องรอกว่า 5 ปี เรียกว่า "การหมักกอง" ซึ่งใช้วิธีการเพิ่มความชื้นให้ใบชา และคลุมผ้าเพื่อสะสมความร้อนภายในกองชา ราว ๆ 60 °C
- ด้วยความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสม จุลินทรีย์จึงเกิดขึ้นในกองชาน้ันและทำให้ชาพัฒนารสชาติเร็วขึ้นเป็นอย่างมาก ชาที่ได้มีสีเข้ม รสหวานนุ่ม ขมฝาดน้อยมาก และมีกลิ่นพิเศษที่เกิดจากการหมักกองคล้าย ๆ ดินก่อนฝนตก หรือพุทราจีน
- เมื่อชานี้ออกสู่ตลาด ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ราคาก็เข้าถึงได้ ทำให้เศรษฐกิจชาในยูนนานเติบโตอย่างมากอย่างที่เธอตั้งใจไว้
- หลังเธอจากโลกนี้ไป เธอได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก ในฐานะของ "มารดาแห่งชาผูเอ่อร์ยุคปัจจุบัน"
ผูเอ่อร์เปลือกส้มเกิดจากความบังเอิญ
- ว่ากันว่าในสมัยราชวงศ์ชิง มีข้าราชการยูนนานตกอับท่านหนึ่ง นามว่า "ลั่วเทียนฉือ" (罗天池) ถูกถอดจากตำแหน่ง เขาย้ายกลับบ้านเกิดที่กวางตุ้งพร้อมกับ "ชาผูเอ่อร์" ที่เขาชอบดื่มเป็นประจำ
- วันหนึ่งเขาเกิดป่วย ภรรยาต้มน้ำเปลือกส้มแห้ง (陈皮 เฉินผี) ให้ดื่มตามตำรายาจีน แต่เขาเข้าใจผิด คิดว่าเป็นน้ำชา จึงเทผสมกับน้ำชาผูเอ่อร์ แล้วดื่มเข้าไป ปรากฏว่าหอมหวานนุ่มนวล สดชื่นถึงใจ
- หลังจากนั้น เขาจึงเริ่มทดลองคว้านเนื้อส้มแดง (大红柑 ต้าหงกาน) ใส่ผูเอ๋อร์ลงไปในผลส้ม จากนั้นก็ปิดฝาแล้วนำไปตากแห้ง ของดีจาก 2 มณฑลจึงได้มาเจอกัน เปลือกส้มแห้งซิงฮุ่ยกวางตุ้ง ผสมกับ ชาผูเอ่อร์จากยูนนาน
- เกิดเป็น ชาผูเอ่อร์เปลือกส้ม (柑普茶 กานผู่ฉา) ส้มของจีนมันก็มีหลายขนาด ที่ร้านเราเรียกว่า เสี่ยวชิงกาน(小青柑) แปลว่า ส้มเปลือกเขียวลูกเล็ก
วิธีชงชาผูเอ่อร์สุกในผลส้ม
- ปริมาณชา : 1 ลูก (12 -15 กรัม) ต่อน้ำ 150 ml
- อุณหภูมิน้ำ : 100 องศาเซลเซียส
- เวลาแช่ :
- บีบให้แตก แล้วลวก 2 ครั้ง ครั้งละ 5 วินาที
- ชงรอบที่ 1 : 10 วินาที *ดูสีน้ำชาออกน้ำตาลดำ
- ชงรอบถัดไป 15 วินาที +5 วินาที จนชาจืด
- ข้อแนะนำ : ใช้กาดินเผาจื่อซาจูหนี หรือปังเคยเนื้อดินละเอียด เก็บความร้อนได้ดีในการชงจะทำให้กลิ่นและน้ำชาชัดเจนมากขึ้น
- **นี่เป็นวิธีศึกษาของเรา ไม่มีการชงที่ผิดหรือถูก อยู่ที่ความพอใจของผู้ดื่ม
กรรมวิธีการผลิต
- ลักษณะใบชาเป็นเส้น ๆ สีน้ำตาลปนดำ ยัดในเปลือกส้ม ตัวชามีรสหวานเข้ม เมื่อนำไปชงพร้อมเปลือกทำให้ได้กลิ่นหอมของเปลือกส้มแห้ง
รสชาติและกลิ่น
- กลิ่น: กลิ่นดิน ผสมกลิ่นเปลือกส้มแห้งฟุ้งในจมูก
- รสชาติ: จิบแล้วหวานเข้ม ชามีน้ำหนักดี ฝาดนิด ๆ ชุ่มคออย่างมาก
คุณประโยชน์
- เปลือกส้ม ว่ากันว่าให้สรรพคุณแก้หวัด ลดคัดจมูก
คำแนะนำ
- เหมาะกับผู้ชอบชาหวานเข้ม หอมมาก จิบกับขนมยามบ่ายก็ดีมาก ๆ
บทความที่เกี่ยวข้อง